วันพุธที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การพัฒนาเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์

                                                                                                        
บทนำ
              เกาส์ นักคณิตศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่กล่าวว่า  คณิตศาสตร์เป็นราชินีของวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์มีความสำคัญในการศึกษามาแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานของศาสตร์หลายสาขา  นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือพัฒนาสมองด้านการคิด  การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ  ถ้าเรามีเด็กเก่งคณิตศาสตร์มาก  เราก็หวังว่าศาสตร์ต่าง  จะสามารถพัฒนาอย่างก้าวหน้าและมั่นคง เราจะมีคนที่มีสมองที่มีคุณภาพในการคิดและแก้ปัญหายิ่งขึ้น
ความหมายและลักษณะของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
              คำว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Gifted Child หรือ Talented Child       ซึ่งมักจะเรียกสับไปมาโดยยังไม่มีข้อยุติที่แน่นอน    เช่นเดียวกับในภาษาไทยเองก็มักจะมีคำเรียกหลายอย่างแตกต่างกันไป เช่น  เด็กเก่ง  เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กอัจฉริยะ  หรือเด็กปัญญาเลิศ  เป็นต้น เรนซูลลี (Renzulli) ได้กล่าวถึงหลักทฤษฏีสามห่วงซึ่งแสดงถึงความเป็นนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษว่าจะประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการดังนี้
ความสามารถสูงกว่าปกติ (above average ability)
มีความมานะมุ่งมั่นในงาน (task commitment)
มีความคิดสร้างสรรค์ (creativity)
            การ์ดเนอร์   (Howard  Gardner)     ได้เขียนทฤษฎีพหุปัญญา  (Multiple Intelligences)   แบ่งสติปัญญาของคนโดยทั่วไปออกเป็น 7 ด้านคือ
ด้านภาษา (Verbal / Linguistic)  คนที่เก่งด้านนี้จะเป็นคนที่คิดและเรียนรู้    โดยผ่านการเขียนและการพูด มีความสามารถในการจำข้อมูล ชอบทำงานเขียนและชอบอ่าน เรียนรู้ได้ดีในเรื่องภาษาจากการเห็น จากการจำเสียง  เข้าใจความหมายของคำ  หลักเกณฑ์ของภาษา   วิธีการสร้างสรรค์ทางภาษา    จะเป็นนักพูด  นักเขียนที่รู้จักใช้ภาษาเป็นอย่างดี
ด้านดนตรี (Musical / Rhythmic)  คนที่เก่งด้านนี้ จะเป็นคนที่มีอารมณ์สุนทรีย  มีจินตนาการ
ที่มีความสัมพันธ์กับเสียงและความงาม ชอบที่จะฟัง ทำเสียงเพลง มีสุนทรียด้านดนตรีได้ยินเสียงเพลงจะต้องเต้นทันที
ด้านตรรก (Logical / Mathematical) คนที่เก่งด้านนี้จะเป็นคนที่คิดอย่างมีเหตุผล เป็นขั้นตอน
ชอบทำงานกับตัวเลข   และรู้ถึงรูปแบบที่เป็นนามธรรม   ชอบกิจกรรมลับสมองประลองปัญญา เกมกลต่าง   เกมที่ใช้ความคิด
ด้านมิติสัมพันธ์ (Visual /Spatial) คนที่เก่งด้านนี้จะเป็นคนที่มองเห็น และเข้าใจความสัมพันธ์ของรูปทรงและมิติอย่างลึกซึ้ง มีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและสื่อสารโดยใช้ภาพและแผนภาพ
ด้านกายลีลา (Body/Kinesthetic)  คนที่เก่งด้านนี้จะมีความสามารถในการเคลื่อนไหวเก่งด้านกีฬา
ด้านมนุษยสัมพันธ์(Interpersonal) คนที่เก่งด้านนี้ สามารถเข้าใจความรู้สึกและความคิดของคนอื่น จะเรียนรู้และสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ดี มีความสามารถในการสื่อสาร
ด้านรู้จักตนเอง (Intrapersonal)  คนที่เก่งด้านนี้จะสนุกสนานและเรียนรู้ โดยผ่านการควบคุม
ตรวจสอบ และไตร่ตรองของตนเอง  ชอบทำงานตามลำพัง   เข้าใจความคิดของตนเอง  สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างลึกซึ้ง
            เฮาส์ (House. 1991,51)  ได้กล่าวถึงลักษณะของเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์  ไว้ดังนี้
-  มีความแนวโน้มที่จะเลือกทำคณิตศาสตร์เมื่อเขามีโอกาสเลือกทำกิจกรรม
-  เรียนรู้เนื้อหาคณิตศาสตร์ได้รวดเร็วกว่านักเรียนในชั้นหรือวัยเดียวกัน
-  มักจะข้ามขั้นตอนในการแก้ปัญหาหรือใช้วิธีรวบรัดและมักจะใช้วิธีในการแก้ปัญหาที่คนอื่นคาดไม่ถึง
-  ชอบที่จะทำปัญหาในลักษณะที่เป็นนามธรรม  มักจะไม่ใช้สื่อที่เป็นรูปธรรม
-  มีความสนุกและประสบความสำเร็จในการหารูปแบบ ความสัมพันธ์และชอบที่จะอธิบาย
-  ตั้งใจและทุ่มเทเวลาให้กับการแก้ปัญหาที่สนใจ
-  มีความสามารถเชิงเหตุผลและความจำ
-  ชอบและให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาใหม่กับปัญหาต่าง   ที่แก้มาแล้ว
-  ชอบที่จะตั้งปัญหาที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนใคร
-  สามารถกำกับและควบคุมตนเองได้อย่างอิสระ
-  สนุกสนามกับการแก้ปัญหาที่เป็นปริศนา (puzzles) และเกมต่าง 
            อุษณีย์  โพธิสุข (2543, 46-47) ได้กล่าวถึงลักษณะของนักคณิตศาสตร์ไว้ 31 ข้อดังนี้
-  ชอบอ่านประวัติและผลงานของนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
-  สนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเลข
-  รักและหลงใหลในตัวเลข เช่นเลือกข้าวของเครื่องใช้ที่มีตัวเลข
-  ชอบคบหากับคนที่มีความสนใจทางคณิตศาสตร์โดยไม่จำกัดวัย
-  ชอบเล่นตัวต่อยาก  หรือของเล่นที่เกี่ยวกับการสร้างรูปทรง
-  หมกมุ่น ครุ่นคิดและฝึกฝนโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
-  เบื่อโจทย์เลขหรือบทเรียนที่ไม่ท้าทาย ซ้ำซากหรือง่ายเกินไป
-  ใช้วิธีแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ไม่ชอบทำตามวิธีที่คนอื่นทำ
-  ลัดขั้นตอนการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
-  คิดโจทย์ปัญหาได้อย่างพลิกแพลง ซับซ้อนและมองเห็นแง่มุมที่คนอื่นคิดไม่ถึง
-  เป็นคนมีจินตนาการดี สามารถมองเห็นสิ่งต่าง  ได้หลายมิติ
-  เป็นคนช่างคิด มีวิธีคิดที่ดี มีไหวพริบ
-  เข้าใจความหมายของจำนวนและตัวเลขอย่างรวดเร็ว
-  มีเหตุผลเป็นหลักในการตัดสินใจ
-  ชอบตั้งคำถามที่เป็นเหตุต่อกัน เช่น ถ้าแล้วดังนั้นเพราะว่าถ้าไม่แล้ว….
-  ชอบวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่าง  อย่างมีเหตุผล
-  สนใจเรื่องนามธรรมเกี่ยวกับเวลา อากาศ และมิติของเวลา
-  มองเห็นความสัมพันธ์ เชื่อมโยงโครงสร้างและความสมดุลของสิ่งต่าง 
-  เรียนรู้เกี่ยวกับจำนวน ตัวเลข และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว
-  ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์
-  ชอบชั่ง  ตวง  วัด  นับ
-  ชอบจัดลำดับหมวดหมู่สิ่งของ หรือวาดรูปในลักษณะที่เรียงตามลำดับ
-  ได้คะแนนทดสอบทางคณิตศาสตร์สูง
-  สรุปความคิดในเชิงคณิตศาสตร์ได้รวดเร็ว
-  เชื่อมโยงประเด็นปัญหากับเรื่องอื่น  ได้อย่างสมเหตุสมผล
-  จดจำความสัมพันธ์ต่าง  ของปัญหาและหลักการหาคำตอบที่ผ่านมาได้ดี
-  เชื่อมั่นในคำตอบหรือหลักเกณฑ์การคิดทางคณิตศาสตร์ของตนเอง
-  มีความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาเดียวกันได้หลายรูปแบบ
-  ชอบโจทย์คณิตศาสตร์ที่ยาก
-  มองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของโครงสร้างและความสมดุลของสิ่งต่าง 
-  มีแนวโน้มที่จะมองอะไร  โยงมาเกี่ยวพันกับคณิตศาสตร์ได้หมด
            พิชากร แปลงประสพโชค (2540,7)  ให้ความหมายเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์ไว้ว่าหมายถึงเด็กนักเรียนที่มีทักษะความคิดระดับสูงในทัศนะของบลูม  มีความคิดวิจารณญาณ  ความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถสูงในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
            ยุพร   ริมชลการ  (2543, 6)   ให้ความหมายเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์  ไว้ว่า    หมายถึงนักเรียนที่สอบผ่านเกณฑ์การคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้วยเครื่องมือคัดเลือกที่ประกอบด้วยการเสนอชื่อ  แบบทดสอบวัดการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และแบบทดสอบวัดความคิดระดับสูง
การค้นหานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ
            การสำรวจหาความสามารถเฉพาะทางของเด็กมีขั้นตอนตามหลักวิชา ซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน 3 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1  ขั้นสำรวจแบบคร่าว  (Screening) อาจใช้วิธีการดังนี้
-  การเสนอชื่อ โดยครูผู้ปกครอง  ครูแนะแนว  และนักจิตวิทยา เป็นต้น
-  รายงานจากครูเกี่ยวกับตัวเด็ก เช่นความสามารถทางสติปัญญา ความกระตือรือร้น
-  ประวัติจากครอบครัวเกี่ยวกับพัฒนาการ  พฤติกรรมในวัยเด็ก  การแก้ปัญหา
-  ผลการเรียน  ผลงานเด็ก
-  ผลจากแบบสำรวจที่ใช้สำรวจความสามารถของเด็กหลาย  ด้านแบบคร่าว 
-  ผลการสำรวจความสนใจ
-  แบบทดสอบสติปัญญาแบบกลุ่ม
ขั้นที่ 2 ขั้นเจาะลึก เป็นขั้นที่หาความถูกต้องแม่นยำโดยใช้ข้อมูลที่คัดมาแล้วและทำการทดสอบ      
เพิ่มเติมโดยการสัมภาษณ์พ่อ  แม่  ครู  ตัวเด็ก  การทดสอบเฉพาะสาขา   การทดสอบด้วยแบบทดสอบสติปัญญาเป็นรายบุคคลหรือการทดสอบความคิดสร้างสรรค์
ขั้นที่ 3  ขั้นคัดเลือกขั้นสุดท้าย    เป็นการคัดเลือกโดยใช้ข้อมูลในขั้นที่ 2   คัดเลือกให้เหลือเด็กประมาณ 1-5%  โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญร่วมตัดสิน
หลักสูตรของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
            สุรศักดิ์  หลาบมาลา (2536,3)  ได้กล่าวถึงหลักสูตรที่เหมาะสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ควรมีลักษณะดังนี้
-  เนื้อหาวิชาควรเป็นแบบ content-based   ที่จะทำให้เด็กเรียนไปได้อย่างรวดเร็วจากง่ายไป    
หายาก ควรเน้นแนวความคิด  หลักการ ทฤษฎี   แล้วจึงลงไปสู่รายละเอียดปลีกย่อย  และการนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ไปใช้
-  หลักสูตรควรมีเนื้อหาในลักษณะ กระบวนการ ผลลัพธ์และรายงานการวิจัย   ที่ให้โอกาสเด็ก
ค้นลึกลงไปว่าเรื่องนี้ทำอย่างไร ได้ผลอะไรและมีวิธีการอย่างไร ควรให้โอกาสเด็กค้นคว้าศึกษาได้ทุกวิชาที่เรียนในหลักสูตรไม่ใช่เฉพาะวิชาที่เรียนในชั่วโมงเท่านั้น
            เช่นเดียวกับอุษณีย์  โพธิสุข  (2543, 114)   ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการจัดการศึกษา  สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
-  เนื้อหายากและท้าทายกว่าหลักสูตรสำหรับเด็กทั่วไป
-  บูรณาการกันหลายวิชา
-  ให้เด็กมีส่วนร่วมในการเลือกสิ่งที่จะเรียน
-  กระบวนการเรียนการสอนมีความซับซ้อนมากกว่าหลักสูตรปกติ
-  ตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาผลงานหรือผลการเรียนรู้ชัดเจน
-  เน้นกระบวนการคิดระดับสูง
-  ให้ความสนใจกับความมุ่งมั่น กระตือรือร้นและการเปลี่ยนแปลงภายใน   ที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของเด็ก
                                                         ลำดับขั้นแห่งการเรียนรู้
                                                                                                                      
                                                                                       ความรู้                                
                                                              ความเข้าใจ
                                                             การนำไปใช้
                                                             การวิเคราะห์
                                                                    การสังเคราะห์
                                                                     การประเมินผล

วิธีที่ใช้ในห้องเรียนของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
            นอกจากการใช้รูปแบบทางการศึกษาที่กล่าวมาแล้ว การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ    ควรเน้นทักษะการคิดในระดับสูงที่ใช้กันอยู่ทั่วไป     ซึ่งประกอบด้วย    การฝึกความคิดสร้างสรรค์    กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  (creative  thinking)   การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical  thinking)     การตัดสินใจ (decision  making)   การระดมพลังสมอง  (brain stroming)  และ metacognition
            เฮ้าส์   (House. 1991, 35)    กล่าวถึงบรรยากาศการเรียนของนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ควรมีลักษณะดังนี้
-  มีความร่วมมือกันระหว่างนักเรียน  ครู  และผู้ปกครอง
-  เป็นหลักสูตรที่ยืดหยุ่นและบูรณาการ
-  บรรยากาศคล้ายห้องสมุดหรือห้องปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยวัสดุอุปกรณ์ เน้นการทดลอง และ
   ความสัมพันธ์กัน
-  พยายามเน้นกลุ่มใหญ่ให้น้อยที่สุดแต่เน้นกิจกรรมกลุ่มย่อยและการเรียนแบบร่วมมือ
-  ประเมินความก้าวหน้าของเด็กบนพื้นฐานของการประเมินและการประเมินตนเอง
-  บรรยากาศเต็มไปด้วยความไว้วางใจ การยอมรับ และการนับถือซึ่งกันและกัน
-  การจัดโปรแกรมการเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
-  การจัดโปรแกรมการเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษทำได้หลายลักษณะ แต่ที่รู้จักกันมากมี 4 วิธีคือ
1.  วิธีเพิ่มพูนประสบการณ์ (Enrichment)
2.  วิธีขยายหลักสูตร (Extention)
3.  วิธีลดระยะเวลาการเรียน (Acceleration)
4.  การให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเป็นผู้ให้คำปรึกษาดูแล (Mentoring)
 การสอนแบบเพิ่มพูนประสบการณ์(Enrichment)เป็นวิธีการจัดการศึกษาแบบขยายกิจกรรม
ในหลักสูตรให้มีความกว้างและลึกซึ้งขึ้นกว่าที่มีอยู่ในหลักสูตรปกติ  เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ   เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหาซึ่งเด็กอาจใช้เวลามากหรือน้อยกว่าเด็กอื่นในชั้นเรียนปกติก็ได้การสอนแบบเพิ่มพูนประสบการณ์นี้    จะช่วยให้เด็กพัฒนาสิ่งที่สนใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น       เป็นการปูพื้นฐานทักษะการเรียนรู้  ก ารคิดวิเคราะห์  สืบสวนสอบสวน   การค้นหาความจริง   สนับสนุนให้เด็กศึกษาหาความรู้ที่นอกเหนือจากจุดประสงค์ทั่วไปในหลักสูตร    กิจกรรมที่จัดควรเปิดกว้าง  มีการใช้คำถามปลายเปิดให้มากที่สุด  อนุญาตให้นักเรียนเลือกหัวข้อกิจกรรมหรือเสนอแนะรูปแบบเนื้อหาการเรียนการสอน  ฝึกหัดให้เด็กทำโครงสร้างการเรียนรู้หรือแผนที่ความรู้ของตนเอง   ฝึกให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง   อย่างกระจ่างแจ้ง มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน
วิธีขยายหลักสูตร  (Extention)   เป็นการจัดโปรแกรมการศึกษานอกหลักสูตร  สำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ   ที่ตอบสนองความสนใจ  และความสามารถเป็นรายบุคคล   สามารถทำได้ทั้งเป็นงานเดี่ยวหรือกลุ่ม เด็กสามารถเรียนเกินกว่าหลักสูตร กิจกรรมที่สามารถทำได้เช่นการทำโครงการพิเศษ การเรียนในห้องศูนย์วิทยาการ  การจัดค่ายวิชาการ  การจัดการแข่งขัน เป็นต้น
วิธีลดระยะเวลาการเรียน (Acceleration)  การลดระยะเวลาการเรียนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การให้เข้าเรียนเร็วกว่าเด็กปกติ  การข้ามชั้นเรียน  การให้เรียนในชั้นที่สูงกว่าบางวิชา  วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก  และเด็กจะไม่ถูกเพ่งเล็งมากนั้น   ให้ทำงานในชั้นที่สูงกว่าแต่เด็กยังอยู่ในชั้นเดียวกับเพื่อน  ย่นหลักสูตรให้เด็กเรียนจบเร็วขึ้นโดยเนื้อหาที่เรียนยังเท่าเดิม จัดกลุ่มเด็กที่มีความสามารถเรื่องเดียวกันแต่ต่างชั้นกันเรียนด้วยกัน
การให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเป็นผู้ให้คำปรึกษาดูแล (Mentoring) เป็นการให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาช่วยเด็กที่มีความสามารถโดดเด่น    เด็กสามารถทำงานภายใต้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ    เช่นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ครูที่สนใจเรื่องเดียวกับเด็ก นักเคมี นักโบราณคดี เป็นต้น
ลักษณะของครูคณิตศาสตร์ที่จะสอนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ
            เฮาส์   (House. 41-42)   กล่าวถึงลักษณะสำคัญของครูคณิตศาสตร์      ที่จะสอนนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษไว้ดังนี้
1. มีสุขภาพดี  ยอมรับความจริง  ไวต่อความรู้สึกของคนอื่น  ยอมรับ  นับถือบุคคลอื่น จริงใจ 
2. ยืดหยุ่น และเต็มไปด้วยข้อมูล
3. แข็งแรงและมีชีวิตชีวา
4. มีประสบการณ์และวุฒิภาวะ
5. มีพื้นความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่แข็งและมีปริญญาบัตร
6. มีความสนใจใฝ่รู้ทั้งในสาขาคณิตศาสตร์และอื่นๆ
7. มีบุคลิกที่แสดงออกถึงความกระตือรือร้นทางคณิตศาสตร์และการสอน สามารถทำให้มีการสอนมีชีวิตชีวา และ
    ชอบแลกเปลี่ยนแนวความคิด
8. ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสนใจในการกระทำของนักเรียนและยอมรับในความสามารถ
    เป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างแรงจูงใจ  สามารถรับฟังและเรียนรู้จากเด็กว่าเด็กพูดอะไรและทำอะไร
9. มีอารมณ์ขันและสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
             10. เข้าใจสังคม  อารมณ์ ความต้องการของเด็กที่มีความสามารถพิเศษและชอบที่จะสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
             11. เข้าใจความคิดและรูปแบบการเรียนของเด็กที่มีความสามารถพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเด็กมี
    ความแตกต่างจากตัวครูเอง ยอมรับแนวคิดที่แปลกใหม่และอดทนต่อความคลุมเครือ
             12. กระตือรือร้นที่จะค้นหาความรู้  ความคิดใหม่  มองการสอนเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคล
         13. มีความเชื่อมั่นในตนเองและความสามารถของตนไม่ถูกชักจูงโดยเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ไม่หวั่นไหวจากการท้าทายของนักเรียนแต่มั่นคง  ในการผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายที่เป็นการค้นหาความรู้ใหม่ด้วยกัน   เห็นคุณค่าของความเปลี่ยนแปลง   ความงอกงามและยอมรับในความเป็นจริงของตนเองและผู้อื่น

บรรณานุกรม
พิชากร   แปลงประสพโชค.   การพัฒนาหลักสูตรพิเศษทางเรขาคณิตเสริมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา
             ตอนต้นที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์.  ปริญญานิพนธ์ กศ.กรุงเทพฯ :  
             มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2540.
ยุพร  ริมชลการการพัฒนาหลักสูตรพีชคณิตสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีความสามารถ
             พิเศษทางคณิตศาสตร์ปริญญานิพนธ์ กศ.กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,2543
สุรศักดิ์   หลาบมาลา “การศึกษาสำหรับเด็กเรียนเก่ง” วารสารการศึกษา กทมปีที่ 14 ฉบับที่ 1 ตุลาคม
             2532
อุษณีย์   โพธิสุข.   แผนที่สู่การพัฒนาอัจฉริยภาพเด็กมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์กรุงเทพฯ. 2543.
             House, Geggy A. Provinding Oppurtunities for the Mathematically Gifted, K-12          
             National Council  of Teachers of Mathematics. 1991.

มาจาก http://www.km.skn.go.th/index.php?name=research&file=readresearch&id=20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พื้นที่รูปเรขาคณิต

  รูปสามเหลี่ยมด้านเท่า   คือ รูปสามเหลี่ยม ชนิดหนึ่งที่ด้านทั้งสามมี ความยาว เท่ากัน ใน เรขาคณิตแบบยุคลิด   รูปสามเหลี่ยมด้านเท่าจัดเป็น รู...